Vitamilk Champ

ย่อยแลคโตสผิดปกติ กับ แพ้นมวัว แตกต่างกันอย่างไร_2
HOME / เคล็ดลับดูแลแชมป์ตัวน้อย / ย่อยแลคโตสผิดปกติ กับ แพ้นมวัว แตกต่างกันอย่างไร

ย่อยแลคโตสผิดปกติ กับ แพ้นมวัว แตกต่างกันอย่างไร

ในบทความก่อนหน้านี้เราเคยเล่าถึงอาการแพ้นมวัวของลูกว่าเป็นอย่างไร แต่ยังมีอีกอาการที่คุณแม่ควรจะรู้จักเอาไว้คอยสังเกตลูกน้อย นั่นคือภาวะย่อยแลคโตสผิดปกติ อาการที่ว่านี้มักถูกเข้าใจผิดว่าเป็นอาการแพ้นมวัว ทั้งที่จริงๆ แล้วอาการทั้งสองมีสาเหตุและลักษณะอาการที่แตกต่างกัน

 

ย่อยแลคโตสผิดปกติเป็นอย่างไร

หากลูกมีภาวะย่อยแลคโตสผิดปกติจะแสดงอาการที่ระบบทางเดินอาหาร เนื่องจากว่าร่างกายขาดเอนไซม์แลคเตส (Lactase) ซึ่งใช้ในการย่อยน้ำตาลแลคโตสที่อยู่ในผลิตภัณฑ์นมวัว จึงทำให้จุลินทรีย์ในลำไส้พยายามจะย่อยน้ำตาลแลคโตสแทน แล้วทำให้เกิดแก๊สในกระเพราะอาหารที่เป็นต้นตอของอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ หรือบางรายมีอาการท้องเสีย ถ่ายเหลว

 

อาการย่อยแลคโตสผิดปกติ กับ แพ้นมวัว แตกต่างกันอย่างไร

ย่อยแลคโตสผิดปกติ : อาการมักกำเริบหลังทานผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนมไปแล้วประมาณ 30 นาทีถึง 2 ชั่วโมง โดยจะแสดงอาการเช่น ท้องอืด ท้องเฟ้อ ปวดท้อง ท้องเสีย และความรุนแรงของอาการจะขึ้นอยู่กับปริมาณของน้ำตาลแลคโตสที่เข้าสู่ร่างกาย และปริมาณเอนไซม์แลคเตสที่ร่างกายมีไว้ย่อยน้ำตาลแลคโตส

แพ้โปรตีนนมวัว: ถ้าลูกเราแพ้โปรตีนนมวัว มักจะแสดงความผิดปกติทางร่างกายให้เราเห็นได้หลายรูปแบบแล้วแต่เด็กแต่ละคน โดยอาการที่ว่านี้สามารถเป็นตั้งแต่ระดับเบาๆ อย่างผื่นคันไปจนถึงขั้นรุนแรงช็อคหมดสติได้ อีกทั้งยังสามารถเกิดขึ้นหลายอาการในคราวเดียวได้ด้วย ยกตัวอย่างเช่น

- เกิดผื่นคันขึ้นที่แก้ม เป็นลมพิษ หรือตาบวมแดงคัน

- ท้องผูก ถ่ายเหลว หรือท้องอืด ท้องเฟ้อเพราะอาหารไม่ย่อย

- มีน้ำมูกใส หายใจครืดคราดเหมือนเป็นหวัด หรือมีอาการหอบหืด

แล้วถ้าลูกแพ้ขั้นรุนแรงก็อาจส่งผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด เช่น ความดันต่ำ หรือหมดสติได้

 

ทำไมคุณแม่ถึงควรรู้ความแตกต่างของสองอาการนี้

เพื่อว่าคุณแม่จะได้เข้าใจและดูแลลูกน้อยได้ถูกต้อง เพราะอาการท้องอืดหรือท้องเสีย ถ้าไม่รู้ข้อมูลก็อาจคิดว่าเพราะกินอาหารผิดสำแดง หรือพอลูกเกิดอาการนี้บ่อยๆ เป็นนานๆ เข้าก็จะถูกเข้าใจว่าเพราะแพ้โปรตีนนมวัว ซึ่งจริงๆ แล้วอาจเป็นเพราะภาวะย่อยแลคโตสผิดปกติ หากเป็นเช่นนั้น ลูกอาจแค่ต้องจำกัดปริมาณการดื่มนมวัวโดยที่ไม่จำเป็นต้องหลีกเลี่ยงนมวัวก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับร่างกายเด็กแต่ละคน เช่น หากลูกดื่มนมหนึ่งแก้วต่อวันแล้วไม่มีอาการผิดปกติก็สามารถดื่มต่อได้ เพียงแค่จำกัดปริมาณ แต่ในเด็กบางคนจำเป็นต้องเลี่ยงผลิตภัณฑ์จากนมวัวเลย และหากเป็นเพราะการขาดเอนไซม์แลคเตสชั่วคราวจากการติดเชื้อหรืออักเสบที่ลำไส้เล็ก ลูกก็จะสามารถหายจากอาการนี้ได้ภายหลัง

ในขณะที่หากเป็นอาการแพ้นมวัวก็มักจะต้องหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนมวัว ซึ่งบางครั้งการสังเกตอาการอาจดูยากสักหน่อย เพราะเด็กบางคนที่แพ้นมวัวอาจมีอาการท้องอืดหรือปวดท้องให้เห็นหลังดื่มนมวัวเช่นเดียวกับอาการย่อยแลคโตสผิดปกติ หนทางที่ดีที่สุดคือ คุณแม่ต้องหมั่นสังเกตดูว่าลูกเรามีอาการเหล่านี้หลังจากดื่มนมวัวสักพักหรือเปล่า เป็นมานานแล้วหรือไม่ หากพบว่าเป็นเช่นนั้น ควรพาลูกไปพบแพทย์เพื่อตรวจให้แน่ชัดว่าเป็นเพราะสาเหตุใดเพื่อจะได้ดูแลลูกอย่างถูกวิธี

 

ดื่มนมวัวไม่ได้แต่เราอยากให้ลูกได้สารอาหารครบถ้วน ควรทำอย่างไร

ถ้าลูกเราจำเป็นต้องหลีกเลี่ยงอาหารหรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนมวัว แล้วคุณแม่กังวลว่าลูกจะขาดสารอาหารสำคัญไป การเลือกทานผลิตภัณฑ์นมที่ปราศจากแลคโตสและโปรตีนนมวัวอย่างนมถั่วเหลืองก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ อย่างนมถั่วเหลืองไวตามิ้ลค์แชมป์สูตรปราศจากน้ำตาลแลคโตส สามารถช่วยให้ลูกได้รับสารอาหารสำคัญที่มีประโยชน์ต่อร่างกายไม่แพ้นมวัว เพราะมีโปรตีนและแคลเซียมสูงดีต่อการเจริญเติบโตของร่างกาย มีโคลีนและวิตามินบี 12 ซึ่งเป็นสารอาหารสำคัญที่มีส่วนช่วยในการทำงานของระบบประสาทและสมองของลูกน้อย ทั้งยังมีใยอาหารโพลีเด็กซ์โตรสที่ช่วยป้องกันอาการท้องผูก ท้องเสีย และเสริมสร้างสุขภาพของระบบทางเดินอาหารของลูก ให้คุณแม่หมดความกังวลใจไปได้ว่าแม้ลูกทานนมวัวไม่ได้เราก็ยังมีทางออกที่ดีต่อการเจริญเติบโตอย่างสมวัยของลูกน้อย

 

อ้างอิง